top of page
finance-banking-concept-financial-services-atm-money-turnover-investment-storage-funds-cas

GOVERNANCE

การกำกับดูแลกิจการ

G1.png

การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยยึดถือปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)  โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาบริษัทให้บรรลุเป้าหมายและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

บริษัทมีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2549 และ ปี 2555 ตลอดจนได้ปรับปรุงให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (CG CODE) ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยได้พิจารณาและทบทวนการนำหลักปฏิบัติตาม CG Code ไปปรับใช้ตามบริบททางธุรกิจของบริษัทแล้ว ซึ่งมีหัวข้อที่บริษัทเห็นว่ายังไม่เหมาะสมกับบริบทของบริษัทกล่าวคือ การกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนปีในการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไว้ไม่เกิน 9 ปี เนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจที่มีความเฉพาะด้าน การดำเนินการของบริษัทจำเป็นต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของกรรมการที่มีความต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทจึงเห็นว่าการไม่กำหนดนโยบายจำกัดจำนวนปีของกรรมการอิสระมีความเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทเห็นว่ามีการปฏิบัติอื่นที่เหมาะสมกับบริบททางธุรกิจของบริษัทมากกว่าและได้นำมาใช้ บริษัทได้มีการบันทึกเหตุผลหรือการปฏิบัติอื่นไว้ด้วย 

นโยบายบริหารกิจการที่ดี

คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นนโยบายบริหารกิจการที่ดี และได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของนโยบายให้มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล ทำหน้าที่กำกับดูแล และให้คำแนะนำแก่กรรมการ และฝ่ายบริหารของบริษัทในการปฏิบัติหน้าที่ และความรับผิดชอบ ตามนโยบายบริหารกิจการที่ดีและจะพิจารณาทบทวนและปรับปรุงนโยบายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ตลอดจนกฎหมาย หลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ และข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการเพื่อให้การทำหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการและการบริหารจัดการงานของฝ่ายบริหารเป็นไปด้วยดีมีผลในทางปฏิบัติและมีความต่อเนื่องอย่างเหมาะสม เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนอกจากนี้ ยังทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะทำงานบรรษัทภิบาลกลุ่มบริษัท ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าว มีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการติดตามให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ และจัดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ รวมทั้งการปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจ และระบบการประเมินผลดังกล่าวให้มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการติดสินบน และการคอร์รัปชัน โดยตั้งแต่ปี 2557 บริษัทได้รับการรับรองเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Private Sector Collective Action against Corruption : CAC) และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ 

คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อช่วยศึกษาในรายละเอียดและกลั่นกรองงาน อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการบริษัทและเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการชุดย่อยทั้งหมดเป็นกรรมการอิสระและเพื่อให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อยมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ประธานกรรมการบริษัทไม่ได้เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ อนึ่ง บริษัทได้มีการกำหนดองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน รายละเอียดของคณะกรรมการสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One report)

 

เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีการประเมินผลใน 2 ลักษณะ ดังนี้

หลักสิทธิมนุษยชน

บริษัทได้กำหนดนโยบายสิทธิมนุษยชนพร้อมทั้งแนวปฏิบัติในการดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งระบุเรื่องดังกล่าวไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทอีกด้วย โดยกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทปฏิบัติตาม โดยสรุปได้ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการกระทำและการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึง ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท 

  • พัฒนาและดำเนินการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ของบริษัท โดยทุกหน่วยงานมีหน้าที่ระบุความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ประเมินผลกระทบ กำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ รวมทั้งมีกลไกในการเยียวยา บรรเทาผลกระทบ อย่างเหมาะสม 

  • จัดให้มีการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชน มีการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

  • จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือรับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัท รวมทั้งมีกระบวนการจัดการข้อร้องเรียน โดยจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ร้องเรียนตามมาตรการคุ้มครองที่ระบุในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท

  • ดำเนินการทบทวนนโยบายสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกับหลักกฎหมาย หลักปฏิบัติสากล และสภาพแวดล้อมของธุรกิจ

  • มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ

 

บริษัทได้กำหนดช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ในกรณีที่สงสัยว่าจะมีการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท การกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงพฤติกรรมที่ส่อถึงการทุจริต และการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน นอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนของบริษัทแล้ว ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าหรือคู่ธุรกิจ บริษัทยังได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจด้วย โดยที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยมีการรายงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนในเรื่องสิทธิมนุษยชน

การต่อต้านการคอร์รัปชัน 

บริษัทได้มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption Policy) ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยทุกคนยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กรรมการบริษัท และพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ทั้งต่อบริษัท ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน และต่อคนรู้จัก

  • การดำเนินการใด ๆ ตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทและระเบียบ รวมทั้ง คู่มือปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นในอนาคต

  • พนักงานไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องแจ้งและให้ความร่วมมือ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อบุคคลที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่แจ้ง หรือให้ความร่วมมือในการรายงานเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

  • การคอร์รัปชันเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัท กำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการ กระทำนั้นผิดกฎหมาย

  • บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจแก่กรรมการบริษัท พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน 


บริษัทได้จัดให้มีคู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้บริหารและพนักงานในเรื่องการต่อต้านการติดสินบนและการคอร์รัปชัน โดยปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันหรือข้อร้องเรียนใด ๆ จากพนักงานหรือบุคคลภายนอก

 

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ในส่วนที่ 2 การกำกับดูแลกิจการ ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One report) หรือเว็บไซต์ของบริษัท www.bafsthai.com หัวข้อการกำกับดูแลกิจการ

bottom of page