นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ
กลุ่มบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม กลุ่มบริษัทฯ จึงประกาศ “นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ”
นิยามศัพท์ : ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างและหลากหลายในแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งบนพื้นโลก ในทะเล และระบบนิเวศต่าง ๆ รวมไปถึงความหลากหลายระหว่างชนิดพันธุ์ (Species) สายพันธุ์ (Genetic) และระบบนิเวศ (Ecosystem) อ้างอิงตามนิยามโดยองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)
ขอบเขต: ครอบคลุมทุกกิจกรรมทางตรงที่บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่ การควบรวม การซื้อกิจการ การก่อสร้าง การดำเนินงาน ตลอดจนการยกเลิกกิจการ โดยบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศ นโยบายฯ เพื่อสื่อสารไปยังบริษัทในกลุ่มให้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม
แนวทางและกระบวนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
อนุสัญญา/สนธิสัญญา ที่อ้างอิงตามนิยามโดยองค์กรระหว่างประเทศ
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1992 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมชาร์ (Ramsar Convention on Wetlands) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด
อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1983 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าบนบกในทะเลและนกที่อพยพย้ายถิ่น
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) เป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามในอนุสัญญา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1973 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าในโลก เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษย์ชาติโดยเน้นทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือมีการคุกคาม ทำให้มีปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์ของ CITES ก็คือ การสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ( International Trade ) ทั้งสัตว์ป่าพืชป่าและผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศ สำหรับชนิดพันธุ์อื่นๆ (Native Species)
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรืออนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก" (The World Heritage Convention) เป็นความตกลงระหว่างรัฐภาคี (States Parties) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการคุ้มครอง และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป
สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agricultural: ITPGR) จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FA0) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์สงวน ประเมินค่า และดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรพืชที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะด้านการเกษตรเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์